
การคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ เป็นที่จับตามองกันทุกปีว่าคนไหนใครได้ ยิ่งถ้าเป็นสาขาอาชีพทำสวนจะเป็นที่จับตามองเป็นพิเศษ เพราะว่ามีเข้าคัดเลือกหลายคน และแต่ละคนมีคุณสมบัติโดดเด่นแทบไม่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายคณะกรรมการคัดเลือกก็มีมติคัดเลือก นายธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน จากตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกครั้งนี้ คงไม่เกี่ยวกับว่าเวลานี้ทุเรียนกำลังมาแรง(ราคาดี) หากแต่ว่าคุณสมบัติครบเครื่อง เข้าตามหลักเกณฑ์ทุกประการ โดยเฉพาะได้นำนวัตกรรมการปลูกทุเรียนต้นคู่มาใช้ได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ “เกษตรโว้ยVOICE” จึงขออนุญาตนำข้อมูลมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นข้อมูลดิบที่ดำเนินการโดย กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อว่าจะได้เป็นแนวทางกับเกษตรกรคนอื่นๆที่จะถูกส่งเข้ารับการคัดเลือกเป็นเกษตกรดีเด่นแห่งชาติในปีต่อไป

ปัจจุบัน นายธีรภัทร อุ่นใจ มีอายุ 53 ปี จบการศึกษา ปริญญาตรี สาขาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อยู่บ้านเลขที่ 3/6 หมู่ที่ 8 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ (097) 068-1971
ฟันฝ่าอุปสรรคสร้างผลงาน
เกษตรกรธีรภัทร เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเรียนจบก็ทำงานที่กรุงเทพฯ กระทั่งในปี 2532 มาทำงานที่จังหวัดจันทบุรี และได้แต่งงานกับภรรยา ซึ่งครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ (เงาะ, ทุเรียนชะนี เป็นต้น) และปี 2537 มีหนี้สิน 2,400,000 บาท จึงช่วยกันคิดวางแผนดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ตั้งเป้าหมายใช้หนี้สินให้หมด ประกอบกับเงาะและทุเรียนชะนี ขายไม่ได้ราคา จึงตัดสินใจปลูกทุเรียนหมอนทองที่ราคาดีกว่า พร้อมกับจดบัญชีอย่างละเอียดเพื่อตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจนสามารถปลดหนี้ได้ในเวลาต่อมา และได้รับรางวัลครูบัญชีดีเด่น ระดับประเทศ เมื่อปี 2555
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ใช้หลักการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูก โดยการวางผังปลูก ที่คำนึงถึงทิศทางแสงแดด ทิศทางลม ความลาดชัน พื้นที่ลุ่มต่ำ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น การใช้เครื่องตัดหญ้าแบบนั่งตัดแทนการใช้สารกำจัดวัชพืช, การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมโรครากเน่า โรคเน่า โดยราดทางดินและฉีดพ่นทุก 3 เดือน, การปลูกทุเรียนตามแนวลาดเอียง ขุดร่องเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า
-
การปลูกทุเรียน 2 ต้น/หลุม ต้นห่างกัน 1 เมตร เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตควบคุมคุณภาพผลผลิตและค้ำยันป้องกันลม แต่ใช้พื้นที่เท่าเดิม ลดต้นทุนการตัดแต่งกิ่ง มีผลตอบแทนเพิ่ม 20%
-
ป้องกันการระบาดเชื้อราไฟทอปธอร่า เชื้อสาเหตุโรครากเน่า โคนเน่า ระบาดมากในช่วงฝนตกชุก โดยวิธียกโคกสูง
-
การตัดแต่งกิ่งแขนงและยอด เมื่อทุเรียนอายุ 1 ปี เพื่อให้กิ่งขยายออกด้านข้างและควบคุมการเจริญเติบโต
-
การผลิตทุเรียนต้นฤดู (มี.ค.-พ.ค.) ด้วยการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น โดยการตัดหญ้าโคนต้นให้เตียนในฤดูฝน และเลี้ยงหญ้าโคนต้นในฤดูร้อน สามารถลดต้นทุนด้านน้ำ แรงงานและไฟฟ้า
นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี (เสื้อสีมชมพู) พร้อมด้วย นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเปิดฤดูกาลผลไม้ ที่แปลงใหญ่ทุเรียนอำเภอเขาคิชฌกูฏ ของ นายธีรภัทร อุ่นใจ เมื่อ19 เม.ย.61
การแก้ปัญหาที่นำมาสู่ความสำเร็จ
-
ด้านพื้นที่
-
มีการศึกษาลองผิดลองถูกกับการปลูกทุเรียน รวมทั้งปรึกษากับเกษตรกรเครือข่ายที่ปลูกทุเรียนอื่นๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับสวนทุเรียนของตนเอง
-
มีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการขุดสระเป็นแหล่งน้ำ และขุดบ่อบาดาล 3 บ่อ เป็นแหล่งน้ำสำรอง ใช้เชือกฟางโยงผลทุเรียนกับกิ่งเพื่อป้องกันการร่วงหล่นของผล และปลูกต้นไม้กันลม
-
การปลูกทุเรียนตามแนวลาดเอียง ขุดร่องเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า
-
ด้านวิชาการ
-
เทคนิคการทำทุเรียนคุณภาพและทุเรียนนอกฤดู ต้องวางแผนการปลูก ดูแลรักษาต้นทุเรียนให้สมบูรณ์ ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียน ฉีดพ่นสารแพคโคลบิวทราโซล ทำให้ทุเรียนออกดอกพร้อมกัน (ส.ค.-ก.ย.) สามารถบริหารจัดการได้ง่าย
-
การปลูกทุเรียน 2 ต้น/หลุม แต่ใช้พื้นที่เท่าเดิม เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ควบคุมคุณภาพผลผลิตและค้ำยันป้องกันลม ลดต้นทุนการตัดแต่งกิ่ง
-
ป้องกันการระบาดเชื้อราไฟทอปธอร่า เชื้อสาเหตุโรครากเน่า โคนเน่า ซึ่งระบาดมากในช่วงฝนตกชุก โดยวิธียกโคกสูงขึ้น
-
ด้านเศรษฐกิจและสังคม
-
ควบคุมคุณภาพลดปัญหาตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคได้สินค้าคุณภาพ โดยทำทุเรียนเกรดพรีเมียม กำหนดตัดเมื่ออายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน หลังดอกบาน และใช้เชือกฟางโยงผลต่างสีในการกำหนดวันตัดที่เหมาะสม รวมทั้งบันทึกการบานของดอกแต่ละรุ่น
-
รวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างพลังการต่อรอง โดยแนวทางการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ คือ แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ที่ 8 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ สมาชิก 35 ราย พื้นที่ 656 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,000 ตัน
-
สร้างมูลค่าเพิ่ม จำหน่ายตรงผู้บริโภคผ่าน online ประมาณ 2% ของผลผลิตทั้งหมด
-
ด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบนั่งตัดแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า, อนุรักษ์ไก่ป่าเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช, ขุดร่องระบายน้ำและยกโคกสูงป้องกันการระบาดของโรครากเน่า โคนเน่า ลดการใช้สารเคมี
แนวคิดในการทำงาน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ตอบแทนชุมชนจึงอาสาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ในปี 2548 ลาออกในปี 2550 เนื่องจากได้รับมอบหมายเป็นผู้นำด้านอื่นๆ ของหมู่บ้าน, มีแนวคิดในการดำเนินชีวิต คือ “รักและภูมิใจในอาชีพ มีโอกาสต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” และมีแนวคิดในการทำงานกลุ่ม คือ “เป็นผู้นำต้องนำให้สุด เป็นผู้ตามต้องตามให้ดี”

ต้นทุน/รายได้ (ย้อนหลัง 3 ปี)
-
ปี 2558 ต้นทุน 15.20 บาท/กิโลกรัม รายได้ 80,527.41 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,092 กิโลกรัม/ไร่ แบ่งเป็น เกรด A 28,306.60 กิโลกรัม เกรด B 12,131.40 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 73.68 บาท/กิโลกรัม
-
ปี 2559 ต้นทุน 17.43 บาท/กิโลกรัม รายได้ 82,993.08 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,154 กิโลกรัม/ไร่ แบ่งเป็น เกรด A 29,890 กิโลกรัม เกรด B 12,810 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 71.91 บาท/กิโลกรัม
-
ปี 2560 ต้นทุน 9.15 บาท/กิโลกรัม รายได้ 95,009 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,880 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2560 (1,098 กิโลกรัม/ไร่) แบ่งเป็น เกรด A 66,500 กิโลกรัม เกรด B 28,500 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 47.99 บาท/กิโลกรัม
ผลิตตามหลักมาตรฐาน การผลิตเกษตรที่ดีและเหมาะสม GAP และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว จำนวน 48 ไร่
การจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ (ปฏิบัติดูแล 3 ช่วง)
-
ช่วงก่อนให้ผลผลิต โดยการบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ดูแลรักษาให้น้ำ ปุ๋ย ฮอร์โมนตามระยะเวลาที่เหมาะสม เฝ้าระวังศัตรูพืช
-
ช่วงติดผล โดยตัดแต่ง คัดผลที่ได้รูปทรงและขนาดเหมาะสมกับขนาดกิ่ง โยงกิ่ง ดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ป้องกันโรคและแมลง และช่วยผสมเกษตร นับวันดอกบานคำนวณวันเก็บเกี่ยว
-
ช่วงหลังเก็บเกี่ยว รีบตัดกิ่งออก ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หรือปูนแดง
การลดต้นทุนการผลิต โดยการสำรวจ วิเคราะห์ศัตรูพืช พยากรณ์การระบาดศัตรูพืช ป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน เลือกใช้สารเคมีจากร้านที่น่าเชื่อถือ ใช้ตามอัตราแนะนำ สลับกลุ่มสารเคมีในการใช้เพื่อลดการดื้อสารเคมีของแมลง เน้นป้องกันโรคด้วยบำรุงให้ต้นทุเรียนแข็งแรง โดยปรับปรุงดินและให้ปุ๋ยตามการตรวจวิเคราะห์ดิน ติดตามพยากรณ์อากาศทุกวันเพื่อวางแผนการให้น้ำและฉีดพ่นสารเคมีให้ถูกต้องตามสถานการณ์ พร้อมทั้งจดบัญชีเพื่อเปรียบเทียบวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตเพื่อหาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต
การจัดการด้านการตลาด โดยเกรด A มีพ่อค้าคนกลางติดต่อรับซื้อถึงสวน เพื่อส่งประเทศจีน เกรด B มีพ่อค้าคนกลางรับซื้อส่งตลาดไท
ความยั่งยืนในอาชีพ ทำสวนมาอย่างต่อเนื่อง 25 ปี มีการขยายพื้นที่เพิ่มจากเดิมเป็น 73 ไร่ มีการวางแผนการผลิต ติดตั้งระบบน้ำให้ง่ายต่อการใช้งาน และถ่ายทอดวิธีการผลิต เทคนิค การจัดการสวนให้แก่บุตรสาว เพื่อสืบทอดการทำสวนให้อยู่ต่อไป และมีเป้าหมายในการแปรรูปผลผลิตในอนาคตร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน รวมทั้งจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในอนาคต
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-
พื้นที่เพาะปลูกมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน
-
ควบคุมการใช้สารเคมีตามหลัก GAP
-
ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ
-
ตัดหญ้าด้วยรถตัดหญ้าแทนการใช้สารเคมี และนำเศษหญ้าเป็นปุ๋ยและวัสดุคลุมดิน
-
ป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน เช่น ใช้ไตรโครเดอร์ม่าควบคุมกำจัดโรครากเน่า โคนเน่า ของทุเรียน โดยราดและฉีดพ่นทุก 3 เดือน ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งลดการสะสมโรคและแมลง ใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น สำรวจศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และหาวิธีการจัดการที่เหมาะสม
-
มีการจัดการที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ โรงเรือนเก็บวัสดุอุปกรณ์การเกษตร ชั้นเก็บสารเคมี อาคารเก็บผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวอย่างเป็นสัดส่วน ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียงปลูกผักสวนครัวไว้บริเวณบ้าน และเลี้ยงไก่ไว้กินไข่

เทคนิคการปลูกทุเรียนต้นคู่
1. การเตรียมดินหรือหลุมปลูก เป็นการปลูกทุเรียนแบบยกโคก โดยการยกโคกหลุมปลูกให้สูงจากพื้นดินปกติ ประมาณ 1.20 เซนติเมตร ความกว้างของหลุมปลูก ประมาณ 4-6 เมตร ซึ่งสวนทุเรียนยุคใหม่จะต้องปลูกทุเรียนแบบยกโคกเพื่อลดปัญหาการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน และเอื้อต่อการจัดการออกดอกติดผลและดูแลรักษา
2. การปลูก ใช้ระยะปลูก 10×12 เมตร ใน 1 หลุม ปลูก 2 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ทุเรียนประมาณ 24-30 ต้น การวางแนวปลูกให้วางแนวทิศตะวันออกและตะวันตก (ตามตะวัน)
3. การดูแลรักษา มีหลักการจัดการ ดังนี้
หลังเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ให้แสงแดดส่องถึงใต้ต้นทุเรียน และตัดกิ่งที่ห้อยชี้ลงดินทิ้งในรอบฤดูกาลให้ทุเรียนแตกใบอ่อนอย่างน้อย 2-3 ชุด พร้อมให้อาหารทางใบเสริมเพื่อสะสมอาหาร
ใบอ่อนชุดที่ 3 ระยะเพสลาด ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นการออกดอกให้สม่ำเสมอ อัตรา 1,000 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร
การให้น้ำ เน้นให้ถูกต้องตามระยะการพัฒนาของทุเรียน ข้อควรระวังระยะแทงตาดอก ควรให้น้ำภายในทรงพุ่ม ถ้าให้รอบปลายทรงพุ่ม ดอกจะเปลี่ยนเป็นใบอ่อนแทน ระยะดอกบานควรให้น้ำน้อยลง เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อน
การบำรุงต้น/ดอก/ผล ใส่ปุ๋ย ประมาณเดือนครึ่ง/ครั้ง โดยใส่ควบคู่และสลับกันไป ระหว่างปุ๋ยทางดิน ทางใบ และธาตุอาหารเสริมให้เพียงพอ
การจัดการวัชพืชในสวนทุเรียน ทุเรียนอ่อนแอต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะมีระบบรากตื้น จึงเน้นปล่อยให้หญ้าคลุมแปลงทุเรียน โดยเน้นที่ : หน้าแล้งปล่อยให้หญ้ารก หน้าฝนให้หญ้าเตียน
4. ผลตอบแทนและรายได้ ต้นทุน เฉลี่ย 10-11 บาท ต่อกิโลกรัม หรือ 18,000-20,000 บาท ต่อไร่ (ไม่รวมค่ายกโคก และค่ากิ่งพันธุ์) ผลผลิต เฉลี่ย 1,800-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ รายได้ ประมาณ 63,000-67,500 บาท ต่อไร่ (ราคาขาย เฉลี่ย 45 บาท ต่อกิโลกรัม)

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธีรภัทร อุ่นใจ บ้านเลขที่ 3/6 หมู่ที่ 8 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 468-422 หรือ (098) 068-1971 สำนักงานเกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 309-092 สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 322-158 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง โทร. (038) 611-578 (ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต)
